องค์ประกอบ ของ สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว)

สภา ประกอบด้วย สมาชิกสภา ประธานสภา รองประธานสภา คณะประจำสภา คณะกรรมาธิการ ห้องว่าการสภา

สมาชิก

สมาชิกสภาอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ต้องเป็นพลเมืองลาวที่ได้รับเลือกตั้งมาตามกฎหมาย การเลือกตั้งสมาชิกชุดใหม่ต้องเสร็จสิ้นใน 60 วันก่อนชุดเก่าจะหมดวาระ

ในคราวสงคราม หรือเมื่อมีสาเหตุอื่นซึ่งทำให้เลือกตั้งไม่สะดวก สภาอาจต่อวาระของตนได้ แต่ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 6 เดือนหลังสภาพการณ์เป็นปรกติ และในกรณีที่มีความจำเป็น จะจัดการเลือกตั้งก่อนสมาชิกหมดวาระดำรงตำแหน่งก็ได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาไม่น้อยว่าสองในสาม

สมาชิกเลือกประธานและรองประธานติ และสมาชิกเลือกคณะกรรมาธิการที่ตนจะสังกัดได้โดยความเห็นชอบของที่ประชุมสภา จากนั้นสมาชิกแต่ละคณะกรรมาธิการเลือกและแต่งตั้งหัวหน้าและรองหัวหน้าคณะกรรมาธิการ สมาชิกสภาแห่งชาติเลือกและแต่งตั้งสมาชิก 1 คน เพื่อทำหน้าที่หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ส่วนรองหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาตินั้นอาจแต่งตั้งจากสมาชิกสภาแห่งชาติหรือไม่ก็ได้ ประธานสภาแห่งชาติ รองประธานสภาแห่งชาติ หัวหน้าคณะกรรมาธิการ และหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ (หรืออาจแต่งตั้งเพิ่มเติมได้ แต่โดยปกติมักไม่แต่งตั้งเพิ่มเติม) โดยตำแหน่งประกอบกันเป็นคณะประจำสภาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่แทนสภาแห่งชาติเต็มองค์คณะในระหว่างนอกสมัยประชุมสภาแห่งชาติ โดยศักดิ์ของตำแหน่งแล้ว ในทางการบริหารนั้น ประธานสภาแห่งชาติ ศักดิ์เทียบเท่ากับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะกรรมาธิการหรือหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ศักดิ์เทียบเท่ากับตำแหน่ง รัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนบทบาททางการบริหารและอำนาจที่ค่อนข้างสูงของตำแหน่งทางการเมืองของสภาแห่งชาติ

คณะประจำสภา

คณะประจำสภาแห่งชาติ (หรือคณะกรรมการประจำสภาแห่งชาติ) คือ คณะสมาชิกสภาแห่งชาติจำนวนหนึ่งซึ่งสมาชิกสภาแห่งชาติแต่งตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานประจำของสภาแห่งชาติ โดยเฉพาะระหว่างที่มิได้เปิดสมัยประชุมเป็นโครงสร้างและระบบเฉพาะพิเศษของสภาแห่งชาติลาว ซึ่งจัดองค์ประกอบและโครงสร้างตามแบบของประเทศสังคมนิยม - คอมมิวนิสต์ ระบบของไทยไม่มีหน่วยงานหรือสถาบันหรือองค์กรระดับนี้หรือองค์การเทียบเท่า เหตุผลหนึ่งเพราะสมัยประชุมของรัฐสภาไทยค่อนข้างยาว (สมัยประชุมสามัญรัฐสภาไทย 120 วัน 1 ปี มี 2 สมัยประชุมสามัญ) จึงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานขึ้นมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนที่มีศักดิ์และสิทธิ (เกือบ) เทียบเท่าสภาแห่งชาติ แต่สภาแห่งชาติลาวมีสมัยประชุมค่อนข้างสั้น (หนึ่งปีมีสมัยประชุมสามัญ 2 สมัย ระยะเวลา 1 สมัยประชุม ประมาณ 7 - 15 วัน ทั้งนี้เปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม) จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของสภาแห่งชาติในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งสภาแห่งชาติก็ได้ทำการเลือกตั้งคณะประจำสภาแห่งชาติของตนขึ้นมา

คณะประจำสภาแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และกรรมการจำนวนหนึ่งประธานและรองประธานสภาแห่งชาติ เป็นประธานและรองประธานคณะประจำสภาแห่งชาติโดยตำแหน่ง[6] และกรรมการอื่นประกอบด้วยหัวหน้าคณะกรรมมาธิการทุกคณะกรรมาธิการและหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ซึ่งกรรมการคณะประจำสภาแห่งชาติ ต้องเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติในวาระนั้นด้วย (ตามกฎหมายประธานและรองประธานสภาแห่งชาติเป็นประธานและรองประธานคณะประจำสภาแห่งชาติโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอื่นแต่งตั้งจากสมาชิกสภาแห่งชาติโดยที่ประชุมสภาแห่งชาติ แต่โดยธรรมเนียมของสภาแห่งชาติลาวโดยเฉพาะในชุดหลัง ๆ นั้น มักแต่งตั้งจากหัวหน้าคณะกรรมาธิการทุกคณะกรรมาธิการและหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติเท่านั้น)[7]โดยปกติคณะประจำสภาแห่งชาติประกอบด้วยประธาน รองประธาน หัวหน้าคณะกรรมาธิการ และ หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากการจัดองค์กรและบทบาท อำนาจ และหน้าที่คณะประจำสภาแห่งชาติจึงมีฐานะเป็น “รัฐบาลเงา” ของสภาแห่งชาติ เพื่อคอยตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดด้วยในที่สุด

คณะประจำสภาแห่งชาติเป็นองค์กรประจำการหรือคณะสมาชิกผู้ปฏิบัติงานของสภาแห่งชาติเป็นงานประจำ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนสภาแห่งชาติในระยะเวลาที่สภาแห่งชาติมิได้เปิดสมัยประชุม

คณะประจำสภาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่[8] ดังนี้

  1. เตรียมการประชุมและเรียกสมาชิกเพื่อร่วมประชุมสภาแห่งชาติ
  2. วินิจฉัยตีความและอธิบาย รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  3. ให้การศึกษา อบรมประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงและพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจน เคารพต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  4. เสนอให้ประธานประเทศออกรัฐบัญญัติหรือรัฐดำรัส
  5. กำกับและตรวจสอบ การดำเนินงานและการปฏิบัติงานของ องค์การบริหารและองค์การตุลาการ
  6. พิจารณาข้อตัดสินใจและปัญหาสำคัญของประเทศ (ในเวลาที่สภาแห่งชาติมิได้เปิดสมัยประชุม)
  7. แต่งตั้งหรือถอดถอน รองประธานศาลประชาชนสูงสุด รองอัยการประชาชนสูงสุด และผู้พิพากษาของศาลประชาชน
  8. ชี้นำและนำพา การปฏิบัติงานของ คณะกรรมาธิการ
  9. รับรองให้การปฏิบัติหน้าที่ของสภาแห่งชาติ ครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
  10. สนับสนุน ให้สมาชิกสภาแห่งชาติได้ดำเนินงานตามภารกิจ บทบาท และหน้าที่
  11. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของสภาแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาที่มิได้อยู่ในสมัยการประชุม คณะประจำสภาแห่งชาติมีสิทธิตัดสินใจและดำเนินการทุกประการได้เหมือนกับสภาแห่งชาติเต็มองค์คณะ (ถือว่าเป็นผู้แทนที่สมาชิกสภาแห่งชาติทั้งหมดไว้วางใจเลือกตั้งให้มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนสภาแห่งชาติเต็มองค์คณะได้ในระยะเวลาและกิจการตามที่กฎหมายกำหนด) และให้ถือเป็นตัวแทนของสภาแห่งชาติในกิจการทั้งปวงในช่วงระยะเวลาตามกล่าวข้างต้น

คณะกรรมาธิการ

สภาแห่งชาติ ชุดที่ 4 มีคณะกรรมาธิการ 6 คณะ[9] (จำนวนคณะกรรมาธิการของสภาแห่งชาติเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสภาแห่งชาติ ส่วนของไทยกำหนดจำนวนตามข้อบังคับการประชุมสภาจึงเปลี่ยนแปลงจำนวนเพิ่มลดได้ง่าย) ดังนี้

  1. คณะกรรมาธิการกฎหมาย
  2. คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ แผนงาน และการเงิน
  3. คณะกรรมาธิการวัฒนธรรม - สังคม
  4. คณะกรรมาธิการกิจการชนเผ่า
  5. คณะกรรมาธิการป้องกันชาติ - ป้องกันความสงบ
  6. คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ

คณะกรรมาธิการ (ต่าง ๆ) มีสิทธิและหน้าที่ ดังนี้

  1. ติดตาม ตรวจสอบ และสนับสนุนการปฏิบัติ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม และแผนงบประมาณแห่งรัฐ
  2. ค้นคว้าเพื่อเสนอความเห็นประกอบ ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม และแผนงบประมาณแห่งรัฐ
  3. ค้นคว้าเพื่อเสนอความเห็นประกอบ ร่างกฎหมาย ร่างรัฐบัญญัติ ร่างดำรัส และร่างนิติกรรม ที่รัฐบาลและองค์การจัดตั้งเสนอต่อคณะประจำสภาแห่งชาติ
  4. ติดตาม ตรวจสอบ และสนับสนุนการปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญและระเบียบกฎหมาย
  5. ประสานความร่วมมือ กับองค์การจัดตั้งพรรค รัฐ องค์การจัดตั้งมหาชน และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูล

ในกรณีจำเป็นอาจเชิญภาคส่วนดังกล่าวมาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานได้

  1. สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ภายใต้ความเห็นชอบของคณะประจำสภาแห่งชาติ
  2. เสนอปัญหาอันเกี่ยวกับงาน ต่อสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติเพื่อพิจารณา
  3. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามการมอบหมายของประธานสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติ

ห้องว่าการสภาแห่งชาติ

ห้องว่าการสภาแห่งชาติเป็นองค์การฝ่ายธุรการ สำนักงาน และเลขานุการของสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติห้องว่าการสภาแห่งชาติจัดตั้ง (องค์การและคณะบริหาร) ขึ้นในที่ประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติแต่ละชุด[10] (พร้อมกับคณะประจำสภาแห่งชาติและคณะกรรมาธิการ) ห้องว่าการสภาแห่งชาติมีหน้าที่ค้นคว้า สรุป วิเคราะห์ ตลอดจนบริหาร วางแผน งานการเงิน - การงบประมาณ และอำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมาธิการของสภาแห่งชาติในการดำเนินงานและปฏิบัติหน้าที่ของตนปัจจุบัน หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ คือ ท่าน ทองเติน ไซยะเสม เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานของห้องว่าการสภาแห่งชาติ

อำนาจหน้าที่ของห้องว่าการสภาแห่งชาติ

ห้องว่าการสภาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. บังคับบัญชาพนักงาน - รัฐกร ให้รับผิดชอบงานการเมือง แนวคิด - อุดมการณ์ และการบริหารงานของห้องว่าการสภาแห่งชาติ ปฏิบัติงานตามนโยบายและการมอบหมายของสภาแห่งชาติต่อสมาชิกสภาแห่งชาติพนักงาน และรัฐกรของสภาแห่งชาติ
  2. จัดตั้งและปฏิบัติงานโครงการประจำเดือน ไตรมาส ครึ่งปี และ ประจำปี ของสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติ สรุปและวิเคราะห์สถานการณ์และการปฏิบัติงาน ของสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติในแต่ละช่วงเวลา
  3. สรุปและวิเคราะห์เกี่ยวกับการปฏิบัติ ตามระเบียบกฎหมาย แผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมและงบประมาณแห่งรัฐ เพื่อรายงานให้สภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติ
  4. จัดเตรียมการประชุม (ทุกด้าน) ของการประชุมสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติ
  5. จัดทำและบริหารงานงบประมาณและงานพัสดุ ของสภาแห่งชาติ
  6. บริหารงาน เอกสาร - ธุรการ งานสำนักงาน งานเลขานุการ งานห้องสมุด งานพิธีการ งานการบริหารยานพาหนะ งานเทคโนโลยีการพิมพ์ งานอาคารสถานที่
  7. บริหารงาน ป้องกันความสงบและรักษาความปลอดภัย ของ (อาคารและบริเวณของ) สำนักงานสภาแห่งชาติ
  8. ติดตาม ตรวจสอบ และสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของ ห้องว่าการสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง
  9. ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ของสภาแห่งชาติ
  10. สร้างความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือ กับ คณะกรรมาธิการแต่ละคณะของสภาแห่งชาติ
  11. สร้างความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือ กับ ห้องว่าการศูนย์กลางพรรค ห้องว่าการประธานประเทศ ห้องว่าการนายกรัฐมนตรี และองค์กรอื่น ที่เกี่ยวข้อง
  12. สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ โดยความเห็นชอบของคณะประจำสภาแห่งชาติ
  13. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามการมอบหมายของประธานสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติ

ใกล้เคียง

สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว) สภาแห่งชาติเพื่อการคุ้มกันบ้านเกิดเมืองนอน สภาแห่งชาติ (ออสเตรีย) สภาแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูติมอร์ สภาแห่งชาติแห่งสหภาพพม่า สภาแห่งชาติลิเบีย สภาแห่งชาติกัมพูชา สภาแห่งชาติโซมี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว) http://confinder.richmond.edu/admin/docs/laos.pdf http://www.na.gov.la http://www.na.gov.la/lao/chucnang.htm http://www.na.gov.la/lao/lichsu.htm http://www.ipu.org/parline-e/reports/2175_E.htm http://www.undplao.org/whatwedo/demogov.php https://books.google.com/books?id=9x0OEAAAQBAJ&pg=... https://web.archive.org/web/20080730233845/http://... https://en.vietnamplus.vn/vietnam-steps-up-lao-nat...